วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

Lifestyle Disease : โรคร้ายจากการใช้ชีวิต

lifestyle disease

Lifestyle Disease : โรคร้ายจากการใช้ชีวิต (รักลูก)
โดย: มรกต เอื้อวงศ์
 
          คุณและสมาชิกในบ้านใช้ชีวิตแบบนี้หรือเปล่าคะ?

           … สูบบุหรี่
           ... ดื่มเหล้า
           ... กินตามใจปาก
           ... ทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมง นอนดึก พักผ่อนน้อย
           ... ไม่ออกกำลังกาย
 
          ถ้าใช่...แม้ไม่ทั้งหมด คุณกำลังเผชิญความเสี่ยง และอาจกำลังส่งมอบเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายให้ลูกน้อย จาก Lifestyle disease หรือ Non-communicable disease (NCDs) แล้วค่ะ

แล้ว Lifestyle disease คืออะไรล่ะ
 
          Lifestyle disease หรือ Non-communicable disease (NCDs) คือ โรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุดของผู้คนทั่วโลก โดยในปี 2008 มีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุ NCDs ถึง 68 เปอร์เซ็นต์

          นอกจากนั้น ยังทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพิ่มขึ้น พบว่ามีผู้เสียชีวิตที่อายุน้อยกว่า 60 ปีมากกว่า 9 ล้านคน ปี 2008 จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกทั้งหมด 57 ล้านคน เสียชีวิตจาก NCDs ถึง 36 ล้านคนหรือเกือบ 2 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งสาเหตุหลักมาจากโรคหัวใจและหลอดเลือด 48 เปอร์เซ็นต์ มะเร็ง 21 เปอร์เซ็นต์ โรคปอดเรื้อรัง 12 เปอร์เซ็นต์ และเบาหวาน 3 เปอร์เซ็นต์ค่ะ

          ในประเทศรัสเซีย NCDs คือสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ชายเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ และมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ในผู้หญิง ขณะที่ประเทศอินเดียพบผู้เสียชีวิต 8 ใน 10 คน เกิดจาก NCDs ซึ่งองค์การอนามัยโลกคาดว่าโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดจะเป็นสาเหตุใหญ่ที่คร่าชีวิตชาวอินเดียในปี 2020 ตามมาด้วยโรคความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด เส้นเลือดในสมองอุดตัน และมะเร็ง

          ส่วนในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขประมาณการณ์ว่าในปี 2554 คนไทยเจ็บป่วยประมาณ 12.5 ล้านคน เสียชีวิต 78,000 คน โดยครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตเหล่านี้มากจากโรคเรื้อรัง ทั้งโรคหัวใจ หลอดเลือดและเบาหวานค่ะ (ข้อมูลจาก นสพ.ข่าวสด 3 มิ.ย. 54)
 

ความเครียด

สถานการณ์โรคร้ายจาก Lifestyle disease

           มะเร็ง เป็นโรคที่ครองแชมป์คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ติดต่อกัน 10 ปีซ้อน โดยพบว่ามีแนวโน้มการป่วยและเสียชีวิตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2552 มีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง กว่า 56,058 ราย ซึ่งมะเร็งที่ทำให้เสียชีวิตมากที่สุด คือ มะเร็งตับ มะเร็งหลอดลม มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักค่ะ (ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 29 มิ.ย. 54)
 
           โรคหัวใจและหลอดเลือด ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา จากสถิติทั่วโลกพบว่าโรคหลอดเลือดหัวใจและภาวะหัวใจล้มเหลวที่เกิดจาก พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ได้กลายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ในปี 2545 พบว่ามีคนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด 32,896 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 4 คน
 
           โรคปอดเรื้อรัง โรคระบบทางเดินหายใจและโรคปอด พบได้บ่อยและเนื่องจากเป็นโรคเรื้อรัง จึงทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการรักษา อีกทั้งยังเป็นโรคที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญกว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ มาจากการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะการสูบต่อเนื่องติดต่อกัน 10-20 ปี จะทำให้เป็นโรคนี้ได้มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ค่ะ
 
           เบาหวาน สหพันธ์เบาหวานนานาชาติ คาดการณ์ว่าทั่วโลกจะมีผู้ป่วยเบาหวาน 220 ล้านคน ซึ่งเชื่อว่าหากไม่มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องในอีก 20 ปีข้างหน้า ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 54 หรือ 439 ล้านคน (ข้อมูลจาก www.manager.co.th)
 

สูบบุหรี่

Lifestyle ก่อโรค

          การใช้ชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบัน เปรียบเหมือนทางด่วนที่ก่อให้เกิดโรคร้ายได้อย่างง่ายดายและรวดเร็วค่ะ เพราะ Lifestyle หลาย ๆ อย่างที่หลายคนคุ้นเคยก็ล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ทั้งสิ้น เช่น
 
           สูบบุหรี่ ปัจจุบันพบว่าทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ ปีละประมาณ 5 ล้านคน และคาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุนี้ เพิ่มเป็นปีละประมาณ 8 ล้านคน

          ส่วนในประเทศไทย ผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2552 พบคนไทยสูบบุหรี่ 10.9 ล้านคน เป็นชาย 10.3 ล้านคน หญิง 5.4 แสนคน โดยในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่กว่า 42,000 ราย ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรคมะเร็งไม่ต่ำกว่าปีละ 100,000 คน (ข้อมูลจาก นสพ.ฐานเศรษฐกิจ)
 
           ดื่มเหล้า ผลสำรวจของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า เมื่อปี 2553 พบว่าเยาวชนไทยและผู้หญิงไทยดื่มเหล้ามากขึ้นเป็นเท่าตัว และพบว่าคนไทยมีพฤติกรรมการดื่มเหล้าและอยู่ในภาวะติดเหล้ามากถึง 5.3 ล้านคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนและผู้หญิง
 
           ทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมง พักผ่อนน้อย ไม่ออกกำลังกาย 3 อย่างนี้มักจะมาด้วยกันค่ะ ด้วยเหตุผลที่ว่าทำงานหลายชั่วโมงจนแทบไม่มีเวลาพักผ่อนอยู่แล้ว จะเอาเวลา เอาเรี่ยวแรงจากไหนไปออกกำลังกาย จนเกิดปัญหาสุขภาพ
 
ปรับ Lifestyle ปลอดภัยจากโรค

          แม้ว่ารูปแบบการดำเนินชีวิตที่เราเคยปฏิบัติกันมาจนเคยชิน จะสามารถทำให้เกิดโรคร้ายแรงได้มากมาย แต่วิธีป้องกันและแก้ไขก็ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตเท่านั้นค่ะ ซึ่งการปรับ Lifestyle เพื่อให้มีสุขภาพดีขึ้น ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะต่อตนเองเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อสมาชิกในครอบครัวอีกด้วยค่ะ อาทิ

           สามารถดูแลคนที่รักอย่างสามี ภรรยา ลูก รวมถึงสมาชิกคนอื่น ๆ ของครอบครัวได้อย่างเต็มที่

           เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพ และการใช้ชีวิตให้ปลอดภัยจากโรค

           มีเวลาที่จะทำกิจกรรมดี ๆ ร่วมกัน เช่น การออกกำลังกาย แทนที่จะไปนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล

           ประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะหากสุขภาพแข็งแรงก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาตัว ซึ่งบางโรคต้องใช้เวลานานในการรักษา ทั้งยังต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง

สุขภาพดี

เคล็ดลับเพื่อการมีสุขภาพดี

           1.กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ สะอาดถูกสุขลักษณะ ปลอดภัยจากสารปนเปื้อนต่าง ๆ ในปริมาณที่เพียงพอและเหมาะสมกับวัย หลีกเลี่ยงอาหารที่จะเป็นโทษต่อร่างกาย ก็จะช่วยให้มีสุขภาพที่ดีแล้วล่ะค่ะ
 
           2.อารมณ์ดี สุขภาพดี เป็นสิ่งที่สามารถบอกสภาวะของร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องดูแลควบคู่กันไปค่ะ หากสุขภาพกายดีสุขภาพจิตใจก็จะดีไปด้วย ในทางกลับกันหากสุขภาพจิตดี สุขภาพกายก็จะดีไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นเรื่องของอารมณ์และจิตใจจึงเป็นสิ่งที่ต้องดูแลให้แข็งแรงไม่แพ้ร่างกายค่ะ
 
           3.ออกกำลังกาย สร้างสมอง เป็นวิธีดูแลสุขภาพง่าย ๆ ที่ทำได้แทบทุกที่ แถมยังประหยัด และช่วยเสริมสร้างความรักความผูกพันให้สมาชิกในครอบครัวได้อีกด้วยค่ะ เช่น การเล่นกีฬาร่วมกับสมาชิกในครอบครัว เป็นต้น
 
          การเริ่มต้นใหม่ไม่มีคำว่าสายค่ะ หากคุณมี Lifestyle ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็เพียงแค่ปรับเปลี่ยนเพื่อสุขภาพที่ดีกว่า หากดีอยู่แล้วก็ปรับปรุงให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น เพียงเท่านี้คุณและคนที่คุณรักก็จะห่างไกลโรคร้ายจาก Lifestyle disease แล้วค่ะ
      อ้างอิง : 
http://health.kapook.com/view37052.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

จำนวนผู้เข้าชม